สร้าง “บ้าน” ให้เป็น “บ้าน” เพื่อสร้างสุขอย่างยั่งยืน

4138 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 

เราลองมานึกดูกันเล่นๆ คำว่า “บ้าน” แท้จริงแล้วตามทัศนะของตัวเราเอง นิยามสิ่งนี้ว่าอย่างไรกันแน่? ค่อนข้างมั่นใจว่าประโยคแรกที่ผุดออกมาในหัวของใครหลายคนคือ “สถานที่พักอาศัย” แน่นอนว่าถูกต้อง แต่จะมีสักกี่คนกันที่นึกถึง “สิ่งที่อยู่ภายในสถานที่พักอาศัย” แห่งนั้น

แล้วอะไรคือสิ่งเหล่านั้น… ก็ความรู้สึกต่างๆ จำพวก ความสุข ความสบาย ความผ่อนคลาย ความรัก และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ผู้อาศัยสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตนั่นแหละ ดังนั้นจึงสรุปง่ายๆ ว่า “บ้าน” ก็คือสถานที่หนึ่งเดียว ที่ทำให้สามารถปลดแอกความวุ่นวายทุกอย่างที่เผชิญมาจากภายนอก เป็นที่พักให้ทั้งกาย และใจ รวมถึงเยียวยาทุกปัญหาด้วยความอบอุ่นที่เรียกว่า “ครอบครัว”

ฉะนั้นการจะสร้างบ้านหนึ่งหลังสำหรับ “หนึ่งครอบครัวอันอบอุ่น” จำเป็นที่จะต้องมององค์ประกอบหลายๆ อย่างเพื่อให้บ้านที่จะออกมาตอบโจทย์ได้อย่าครอบคลุมที่สุด เพราะถ้าอาศัยเพียงแค่อยากจะมีบ้าน แต่ขาดซึ่งความใส่ใจในรายละเอียดของสิ่งต่างๆ แล้วล่ะก็ เมื่อเวลาผ่านไปสักพักก็อาจประสบกับปัญหาต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และท้ายสุดแล้ว ก็ไม่อาจเรียกสิ่งก่อสร้างที่ได้สร้างขึ้นมาว่า “บ้าน” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
                                                
อย่างไรก็ตาม หากปรารถนาที่จะมี “บ้าน” ซึ่งสามารถตอบโจทย์ทุกด้านได้ในระยะยาว ก็ไม่ควรมองข้ามที่จะวางแผนในเรื่องต่างๆ ก่อนการสร้างบ้าน อาทิ


1. การหาทำเลสำหรับสร้างบ้าน

 

 

หากกำลังมองหาที่ดิน หรือได้ครอบครองที่ดินที่อยู่ใน “ย่านใจกลางเมือง” ก็ถือว่าเป็น “แผ่นดินผืนทอง” โดยแท้ เพราะทุกสิ่งทันสมัยและอำนวยความสะดวกให้แก่การใช้ชีวิตล้วนอยู่ละแวกนั้น ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ที่มีแทบทุกมุมเมือง หรือการคมนาคมที่ครอบคลุมไปทั่วทุกที่ จนสามารถยกระดับความลื่นไหลด้านการใช้ชีวิตได้เหนือกว่าที่แห่งหนไหน ฉะนั้น ใจกลางเมือง จึงเป็นทำเลยอดฮิตที่สามารถตอบสนอง ความคล่องตัวในการดำเนินชีวิต ให้แก่การอยู่อาศัยต่อไปได้อีกระยะยาว
      
ส่วนในทางตรงกันข้าม หากที่ดินกำลังครอบครอง หรือต้องการจะครอบครองไม่ได้อยู่บนทำเลดังกล่าว แต่กลับกัน กลับอยู่ในละแวกที่โอบล้อมไปด้วยกลิ่นอายแห่งธรรมชาติ อย่าง “ย่านชานเมืองหรือต่างจังหวัด” แน่นอนว่าความสุขอย่างหนึ่งที่ผู้อาศัยอยู่ในตัวเมืองไม่มีคือ “ความสงบอันสูงสุด” ที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่การเลือกสร้างบ้านย่านชานเมืองจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เพราะส่วนใหญ่แล้วหากไม่ใช่ถนนสายหลัก ทุกเส้นทางย่อมมืดและเปลี่ยว ฉะนั้นทำเลที่เหมาะสำหรับการสร้างบ้านอันสงบเงียบและปลอดภัย จึงต้องเป็นทำเลที่ไม่ห่างจากถนนสายหลักและบ้านเรือนหลังอื่นมากนัก

 
2. จงสังเกตทิศทางลมและแดด

 



บ้านสมัยใหม่ ไม่ได้หมายความถึงบ้าน ที่อุดมไปด้วยนวัตกรรมสุดไฮเทคหรือเต็มไปด้วยของไฮเอนด์ แต่ต้องเป็นบ้าน ที่สามารถดึงพลังจากธรรมชาติเช่น ลม และแดด มาใช้เป็นพลังทดแทนให้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะบ้านที่ถูกออกแบบให้รองรับทิศทางการไหลผ่านของพลังพวกนี้ มีส่วนช่วยสร้างความสบายให้แก่การใช้ชีวิตอย่างมากมาย

ตัวอย่างเช่น หากบ้านไหนวางตำแหน่งประตูและหน้าต่างพอดีกับที่ทิศทางลมพัดผ่าน ก็จะมีแต่ความเย็นสบายจนไม่ต้องเปิดพัดลมหรือแอร์มาก และหากบ้านไหนสร้างตามแบบที่เขียนมาให้สอดคล้องต่อทิศทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ บ้านหลังนั้นจะมีส่วนตากผ้าที่โดนแดดได้ดีที่สุด สว่างที่สุดโดยไม่ต้องเปิดไฟ มีห้องนอนที่เย็นสบายโดยไม่ต้องนอนร้อนและอึดอัดตอนกลางคืน

ฉะนั้นการสังเกตทิศทางของลมและแดด จึงถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการสร้างบ้าน เพราะมันคือสิ่งที่ช่วยยกระดับความสุขของชีวิตได้อย่างมหาศาล อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถกำหนดทิศทางการตั้งตัวบ้านได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถแก้ได้โดยการปรับสภาพแวดล้อมโดยรอบให้ช่วยลดความร้อนของบ้านแทน อย่างการปลูกต้นไม้เพื่อบังทิศทางแดด เป็นต้น


3. ถมดินเท่าไหร่จึงจะวางใจได้


 

จริงๆ แล้วเรื่องความสูงต่ำของการถมดินเป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอน แต่ส่วนใหญ่แล้วบ้านทุกหลัง ต่างก็ถมดินให้สูงกว่าระดับถนนคอนกรีตหรือถนนลาดยางหน้าบ้านพอสมควรอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเจ้าของบ้านมากกว่าว่าต้องการให้สูงสักแค่ไหน ถึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อตัวบ้านในอนาคต ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสูงประมาณ 50 ซม. หรือมากกว่า ก็ถือว่าเพียงพอที่จะรับมือต่อระดับน้ำที่อาจท่วมสูงในช่วงหน้าฝนแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นก็ควรถมดินก่อนสร้างบ้านไว้อย่างน้อย 4-6 เดือน เพื่อให้ดินผ่านฝนจนแน่นมากพอที่จะช่วยลดปัญหาดินทรุดหลังสร้างบ้านได้เป็นอย่างดี



4. เขียนแบบบ้านเพื่อทุกคนในบ้าน


 

ส่วนใหญ่คนไทยเรามักอาศัยอยู่กันเป็น “ครอบครัวใหญ่” ที่ประกอบไปด้วยบุคคลหลากหลายช่วงอายุ ซึ่งนอกจากจะมีพ่อ แม่ และลูกแล้ว ยังมีคุณปู่คุณย่าเข้ามาอยู่อีกด้วย ฉะนั้นเวลาจ้างสถาปนิกออกแบบบ้าน ควรแจ้งอย่างละเอียดว่าสมาชิกแต่ละคนในบ้านอยู่ในช่วงวัยไหน เพื่อที่ฟังก์ชั่นของตัวบ้านจะออกมาตอบโจทย์ความสบายให้กับสมาชิกทุกคนได้อย่างสูงสุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบ้านที่มีผู้สูงอายุยิ่งแล้วใหญ่ เพราะบ้านที่ออกแบบมาให้มีห้องนอนอยู่แต่ชั้นบน คงไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพของพวกท่านเหล่านั้นเท่าไหร่นัก ดังนั้นจึงควรออกแบบให้มีห้องนอนและห้องน้ำอยู่บริเวณชั้นล่าง ติดตั้งราวจับบริเวณที่สุ่มเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เลือกกระเบื้องพื้นที่ไม่ลื่นเพื่อความปลอดภัย รวมถึงเลือกสิ่งอำนวยความสะดวกทุกชิ้นอย่างพิถีพิถัน เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พวกท่านใช้ชีวิตอย่างคล่องตัวได้อย่างสูงสุด


5. ชอบบ้านแบบไหน สร้างบ้านแบบนั้น



“บ้าน” ก็เปรียบเสมือน “กระจก” ที่คอยสะท้อนตัวตนของผู้เป็นเจ้าของ นั่นก็เพราะทุกความต้องการที่อยากได้ ทุกรายละเอียดที่อยากมี ทุกไลฟ์สไตล์ของเหล่าสมาชิกในครอบครัว สามารถสะท้อนออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านทางตัวบ้าน ที่ไม่ว่าจะเป็นงานสถาปัตยกรรมภายนอก หรืองานอินทีเรียภายใน ฉะนั้น บ้าน ที่มีความ “พิเศษ” และมีความเป็น “เอกลักษณ์” เฉพาะสูงสุด ก็คือ บ้าน ที่สร้างจากความชื่นชอบของสมาชิกทุกคนในบ้าน ไม่เพียงแค่นั้น ยังต้องเป็นบ้านที่สามารถรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตให้กับทุกคนได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย

 

เท่านี้ก็จะเห็นแล้วว่า การจะสร้างบ้านสักหลังจำเป็นต้องไตร่ตรองรายละเอียดรอบด้านอย่างถี่ถ้วน แล้วมองให้ลึกถึงรากฐานการอาศัยอันยั่งยืน เพราะบ้านที่กำลังจะสร้างขึ้นมานั้น คือสถานที่ที่ต้องอยู่อาศัยให้ได้ในระยาว อีกทั้งต้องคอยฟูกฟักความสุข คอยอำนวยความสบาย รวมถึงต้องทำให้การใช้ชีวิตของคนในบ้านเป็นไปอย่างลื่นไหลที่สุด นั่นถึงจะเป็น “บ้าน” ในความหมายของคำว่า “บ้าน” ที่แท้จริง
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้